พื้นฐานJava – แสดง “Hello World” ทางจอภาพ

แสดงข้อความออกทางจอภาพ

ไม่ว่าเราเริ่มเรียนภาษาอะไรก็ตาม การแสดงผลข้อมูล (หรือที่คุ้นเคยกันว่า print) มักเป็นบทเรียนแรกๆที่เราจะได้เรียนเสมอ เพราะมันเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งในการเขียนโปรแกรม Java เองก็เหมือนกัน บทนี้ Matter Devs จะพาทุกคนไปเรียนรู้พื้นฐานJava ตั้งแต่การแสดงผลสุดคลาสสิคอย่าง “Hello World” กัน

เริ่มต้นด้วยการสร้างไฟล์ใหม่ขึ้นมา การตั้งชื่อไฟล์จะนิยมใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่นำหน้า และถ้ามีหลายคำให้ใช้อักษรตัวพิมพ์ใหญ่แบ่ง เช่น ตั้งชื่อไฟล์ว่า HelloWorld.java เสร็จแล้วให้พิมพ์โค้ดด้านล่างนี้

public class HelloWorld {
 public static void main(String[] args) {
 }
}

บรรทัดที่ 1 : การสร้างคลาสจะต้องประกาศชื่อคลาสให้ตรงกับชื่อไฟล์เสมอ อย่างโค้ดนี้เราตั้งชื่อไฟล์ว่า HelloWorld ดังนั้นจะต้องประกาศคลาสเป็น HelloWorld ด้วยนั่นเอง

บรรทัดที่ 2 : คือฟังก์ชัน main เป็นส่วนหลักของโปรแกรม จะถูกประมวลผลเป็นที่แรก ภายในฟังก์ชันหลัก คือที่ที่เราจะใส่คำสั่งเพื่อให้ทำงานตามที่เราต้องการ โดยคำสั่งจะถูกทำงานตั้งแต่บรรทัดแรก บรรทัดที่สอง และบรรทัดที่สามตามลำดับ

ในการแสดงผล output ไปยังเทอร์มินัลของเรา จะใช้คำสั่ง “print” หรือ “println” (print line) ดังนั้นเราจะสามารถ output บนหน้าจอโดยใช้คำสั่งนี้ในฟังก์ชันหลัก

public class HelloWorld {
 public static void main(String[] args) {
 System.out.println("Hello World");
 }
}

หลังจากรันโปรแกรม จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

Hello World

แต่คำถามคือ แล้ว print กับ println ต่างกันอย่างไรล่ะ?

คำตอบคือ ถ้าคำสั่ง “print” เคอร์เซอร์จะถูกวางไว้หลัง output ส่วนคำสั่ง “println” เคอร์เซอร์จะถูกย้ายไปยังบรรทัดถัดไป ถ้านึกภาพไม่ออก ลองพิมพ์โค้ดด้านล่างนี้ดู

public class HelloWorld {
 public static void main(String[] args) {
 System.out.print("Hello World");
 System.out.print("Hello World");
 }
}

จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

Hello WorldHello World

แต่ถ้าเราใช้ “println”

public class HelloWorld {
 public static void main(String[] args) {
 System.out.println("Hello World");
 System.out.println("Hello World");
 }
}

จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

Hello World
Hello World

พูดง่ายๆคือ คำสั่ง “print” จะอยู่ในบรรทัดเดียวกัน ส่วนคำสั่ง “println” จะขึ้นบรรทัดใหม่นั่นเอง

บทนี้เราได้เรียนเกี่ยวกับการแสดงผลข้อมูลพื้นฐานแล้ว ในบทถัดไปเราจะเรียนเรื่อง Data type ว่ามีข้อมูลประเภทใดบ้าง และจะตั้งชื่อตัวแปรในภาษาจาวาอย่างไร